คอนโดเทล แสนล.เจอพิษโควิด ฮาบิแททฯ เน้นถือเงินสด ตัดขายที่ดิน-เลื่อนเปิดโครงการ-ยันมีเงินจ่ายยิลด์

09 เม.ย. 2563 533 0

          อสังหาริมทรัพย์

          จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่โรคได้แพร่กระจายเข้าไปหลายประเทศทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตแล้วเกือบ 60,000 ราย พบผู้ติดเชื้อ ทั่วโลกทะลุ 1 ล้านคน ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยจากผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งในฟากของประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ลดเป้าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2563 ติดลบ 5.3% ขณะที่สำนักวิจัย ไม่ว่าจะเป็น KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เผยจีดีพีติดลบระดับ 6.8% และ 6.9% ตามลำดับ

          แรงเหวี่ยงจากผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งคลื่นความเสียหายมาสู่ภาคเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง กระทบต่อทุกภาคเศรษฐกิจ รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นเซกเตอร์ที่ผูกโยงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ซื้อ ส่วนธุรกิจการโรงแรม ต้องถือว่ากระทบหนักสุด นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและ ต่างชาติหยุดการเดินทาง จากมาตรการป้องกันและ ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของทุกประเทศ เฉพาะ 2 ภาคธุรกิจดังกล่าว มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ มหาศาล (อสังหาฯ มีมูลค่าต่อปี 800,000 ล้านบาท ส่วนรายได้ จากการท่องเที่ยวปี 62 อยู่ที่ 3.06 ล้านล้านบาท) หรืออีกความหมาย เม็ดเงิน หรือสภาพคล่องดังกล่าว ได้หดหายไปจากระบบเศรษฐกิจไทย!

          ภาคอสังหาริมทรัพย์ได้เจอแรงกดดันจากปัจจัยลบต่างๆ มา 1-2 ปี โดยเฉพาะเซกเตอร์คอนโดมิเนียมที่นอกจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจหดตัว หนี้ครัวเรือน และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV (แม้จะมีการผ่อนปรนมาตรการแล้ว) และกำลังซื้อของลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มชาวจีนได้หายไปจากระบบ ส่งผลให้ ผู้ประกอบการต่างปรับตัวด้วยการลดการเปิดตัวโครงการใหม่ เลื่อนแผนการลงทุนออกไป ทำให้ยอดเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ลดลงมากกว่า 40% จากแผนเดิม ที่วางเอาไว้ รวมถึงอัตราการขายลดน้อยลงมากเช่นกัน

          อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องเฝ้าติดตามคือ ช่วงที่ผ่านมา ตลาดคอนโดมิเนียมในหัวเมืองท่องเที่ยว โดยเฉพาะในภูเก็ต มีนักลงทุนต่างชาติ นิยมเข้าไปซื้อโครงการคอนโดมิเนียมในรูปแบบที่ผู้ประกอบการนำเสนอการ การันตีผลตอบแทนให้กับผู้ซื้อที่เป็นเจ้าของในห้องชุด (ยิลด์) หรือที่เรียกว่า “คอนโดเทล” มีการนำแบรนด์โรงแรมชั้นนำมาบริหารจัดการ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้อยู่อาศัย แต่ในสถานการณ์โรคระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย การบริหารสภาพคล่องของผู้ประกอบการ กลายเป็น “หัวใจ” สำคัญในยามนี้

          คอนโดฯ พัทยาเข้าสู่ภาวะล้นตลาดอีกครั้ง

          นายภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงผล กระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อภาพรวมตลาดคอนโดเทลว่า ทั้งในภูเก็ตและพัทยา เป็นตลาดหลักที่มีการขายใน รูปแบบแคมเปญดังกล่าว โดยเฉพาะในภูเก็ตเป็นที่นิยม กันมาก ขณะที่ในพัทยารูปแบบคอนโดเทล ก็มีให้เห็นแต่ สัดส่วนประมาณ 20% ของโครงการที่อยู่ระหว่างการขายทั้งหมด และโครงการในพัทยาส่วนใหญ่จะอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ยกเว้นบางโครงการที่ได้เปิดให้บริการแล้ว แต่ด้วยการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ กระทบต่อตลาดคอนโดฯ อย่างมาก เนื่องจากในพัทยายังมีสต๊อกอยู่ระหว่างรอการขาย 20,000 ยูนิต ราคาเฉลี่ยไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการขายที่จะเกิดขึ้น 50,000-60,000 ล้านบาท

          ประกอบกับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีหน่วยเปิดขายใหม่ (ซัปพลาย) เข้ามาเติมค่อนข้างมาก โดยในปี 2562 หน่วยเปิดใหม่มีสูงถึง 16,000 ยูนิต มากกว่าปี 2561 ที่ เปิดขายใหม่ 10,000 ยูนิต หรือเพิ่มขึ้น 60% ยิ่งกดดัน ให้สต๊อกรอขายในตลาดคอนโดฯ มีปริมาณค่อนข้างสูง

          “เดิมผู้ซื้อหลักในตลาดคอนโดฯ พัทยาจะเป็นชาวรัสเซีย แต่พอมีวิกฤตค่าเงินของรัสเซีย ชาวจีนขึ้นมาเป็น ผู้ซื้อหลักของพัทยา และเมื่อมีเรื่องระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วงเดือนมกราคม ก็พอมีกำลังซื้อจากชาวจีนเข้ามาบ้าง ซึ่งหลายโครงการไม่คิดว่าเหตุการณ์จะรุนแรง โดยเท่าที่ได้สำรวจก็พบ คอนโดมิเนียมหลายแห่งได้เตรียมทำแผนเรื่องการขายในครึ่งปีหลัง โดยมุ่งกลุ่ม ลูกค้าชาวจีนเหมือนเดิม แต่พอเกิดวิกฤตจากโควิด-19 นักท่องเที่ยวและผู้ลงทุนชะลอการซื้อไปถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ปัจจุบันพัทยากลับเข้าสู่ภาวะสต๊อกคอนโดฯ ล้นตลาดอีกครั้ง”

          ภูเก็ตหนักสุด-เจ้าของคอนโดฯ หาเงินจ่ายค่าการันตียิลด์

          สำหรับตลาดอสังหาฯ ในภูเก็ต โดยเฉพาะการบริการในรูปแบบคอนโดเทล ต้องถือว่าประมาณ 70-80% ของ คอนโดฯ ที่เปิดการขายหรือเกือบ 100 โครงการ จะมีการขายแบบการันตียิลด์ ซึ่งเราพบว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มากกว่า 4,000 ยูนิตที่ใช้เชนโรงแรมต่างประเทศมาบริหาร ซึ่งก่อนหน้านี้อัตราการเข้าพักในภูเก็ต ณ ปลายปี 2562 เฉลี่ยในอุตสาหกรรมกว่า 70% ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง แต่เกิดเหตุวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างหนักมาก ในส่วนที่การันตียิลด์ แม้ว่าจะไม่มีการเข้ามาพัก ต้องรับผิดชอบในการจ่ายผลตอบแทนให้กับลูกค้าตามที่ระบุในสัญญาซึ่งก็ต้องมาดูเรื่องกระแสเงินสดของ ผู้ประกอบการอาจจะกระทบ

          “ดีเวลลอปเปอร์ที่ทำตลาดในกลุ่มคอนโดเทล ต้องพยายามพยุงตัวเองให้นานที่สุด เพราะเรื่องการขายใน รูปแบบการันตียิลด์เป็นที่นิยมในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา และพอเกิดปัญหาครั้งนี้ ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่า อนาคต ของตลาดในกลุ่มคอนโดเทลจะเป็นอย่างไร ซึ่งหากอัตราการเข้าพักอยู่ระดับศูนย์เปอร์เซ็นต์ หรือมีอัตรา 10 เปอร์เซ็นต์ คำถามคือ ผู้ประกอบการจะแบกรับต้นทุนได้นานแค่ไหนและหากวิกฤตครั้งนี้ลากยาวไปกว่า 6 เดือน อาจทำให้ผู้ประกอบการถึงขั้นยุติการทำกิจการหรือล้มไป ซึ่งในสัญญาแรกของการทำเรื่องการันตียิลด์นั้น เช่น 5% ในระยะ 5 ปีนั้น ทางผู้ประกอบการจะมีการตกลงกับเจ้าของห้องแบ่งจ่าย เช่น จ่ายคืนปีละครั้ง ปีละ 2 ครั้ง เป็นรายไตรมาส หรือรายเดือน ซึ่งแต่ละวิธีก็มีผลต่อสภาพคล่องของเจ้าของโครงการแตกต่างกัน”

          โควิดพ่นพิษ ‘คอนโดเทล’ ตลาดแสนล.สะเทือน

          นายภัทรชัย กล่าวแนะว่าเมื่อวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นแล้ว และหากลากไปถึงไตรมาส 3 นั้น ดีเวลลอปเปอร์จะได้รับผลกระทบอย่างมาก ดังนั้น รัฐบาลควรเข้าไปดูแลธุรกิจโรงแรม ซึ่งรูปแบบคอนโดเทลก็เหมือนธุรกิจโรงแรม โดยควรมีกองทุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ดอกเบี้ย 0% เพื่อปล่อยกู้เอกชนระยะ 3-5 ปี เพื่อประคับประคองธุรกิจให้ไปได้และฟื้นตัวขึ้นมา

          “ถ้าผู้ประกอบการที่ทำคอนโดเทล ถ้ากระแสเงิน ไม่ดี เพียงระยะเวลา 3-4 เดือน จะทำให้ธุรกิจล้มได้หรือไปต่อไม่ได้ ตอนนี้ธุรกิจท่องเที่ยวแย่มาก ภาคเอกชนต้องหวานอมขมกลืนกันอยู่ ถ้ารัฐบาลยังไม่ช่วยอะไร เอกชน คงต้องช่วยตัวเองก่อน แต่หากลากยาวไปอีก 2 ไตรมาส ธุรกิจล้มกันเป็นจำนวนมาก สิ่งที่ผู้ประกอบการทำได้ ตอนนี้ คือ รัดเข็มขัดเต็มที่ ลดเงินเดือน ลดพนักงาน ซึ่งจากการประเมินแล้ว การทำโครงการในรูปแบบคอนโดเทลทั้งในภูเก็ตและพัทยา น่าจะมีมูลค่าโครงการรวมเกินกว่า 100,000 ล้านบาท”

          ไนท์แฟรงค์ฯ คาดโควิด-19 ลากยาวอีก 6 เดือน

          สอดคล้องกับนายณัฏฐา คหาปนะ กรรมการบริหาร บริษัท ไนท์แฟรงค์ ภูเก็ต จำกัด กล่าวด้วยความเป็นห่วงว่า “คอนโดมิเนียมในภูเก็ตปีนี้ น่าจะได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวงคาดว่าผลกระทบน่าจะลากยาวไปอีก 6 เดือน”

          ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้คอนโดมิเนียมในภูเก็ต ค่อนข้างขายดี เนื่องจากโครงการที่เปิดขายใหม่ ส่วนใหญ่จะเสนอผลตอบแทนการลงทุนแก่ผู้ซื้อเป็นระยะเวลา 3-5 ปี (การันตียิลด์) และยังสามารถเข้าพักได้ในระยะ เวลา 30-45 วันต่อปี จะเห็นได้ว่าโครงการที่เปิดขายใหม่ ในปี 2562 ถึง 86% หรือ 18 โครงการ จาก 21 โครงการ ที่การันตีผลตอบแทนให้แก่ผู้ซื้อ

          ‘ฮาบิแทท’ รักษาฐานะ ‘ขายที่ดิน-เลื่อนเปิดโครงการ’

          นายชนินทร์ วานิชวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ฮาบิแทท กรุ๊ป จำกัด ผู้นำด้านการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับพรีเมียมเพื่อการลงทุนของไทย  และเป็นผู้ประกอบการที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุดในพัทยา ในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ พร้อมกับการนำเสนอบริการที่ “สร้างผลตอบแทน” ให้กับเจ้าของ “สินทรัพย์” ผ่านรูปแบบการรับผลตอบแทนให้กับผู้ซื้อที่เป็นเจ้าของ ห้องชุดในโครงการคอนโดฯ ที่บริษัทได้พัฒนาและขายให้กับลูกค้า กล่าวเห็นด้วยกับมาตรการที่ภาครัฐออกมาอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเคอร์ฟิว การปิดโรงแรม และสำนักงานที่ดินในจังหวัดชลบุรี ปิดนั้น เรายอม ถ้าภายใน 1-2 เดือนจำนวนการแพร่ระบาดของเชื้อลดลง เป็นเรื่องที่ดีกว่าปล่อยไปเรื่อยๆ ซึ่งจากข้อมูลเราจะเห็นว่าในเดือนเมษายน สัดส่วนการติดเชื้อลดลง และหากในเดือนพฤษภาคมดีขึ้น โรงแรมก็น่าจะเริ่มเปิดกลับมาได้ และเชื่อว่าคนไทยก็อยากกลับมาท่องเที่ยวเหมือนเดิม

          “เราประเมินว่า หากสามารถควบคุมการแพร่เชื้อได้ภายใน 1-2 เดือน เรา (ฮาบิแททฯ) ก็ยังพอรับได้ แต่หากลากยาวไปอีก 3 ถึง 6 เดือน ผมว่าเหนื่อย ซึ่งหากแยก เป็นกลุ่มอสังหาฯ หากยอดขายไม่เข้าก็เหนื่อย แบงก์ก็ชะลอการปล่อยสินเชื่อพัฒนาโครงการ แต่หากชะลอในแค่ ระยะสั้นเอาให้สุดๆ ไปเลย ช่วงนี้สิ่งที่ทำได้ คือ วางแผน ทำหลังบ้านให้แข็งแรง ดูเรื่องกลยุทธ์ที่จะทำ และคิดว่า ในกลางปีเป็นต้นไป น่าจะเริ่มกลับมาขายโครงการได้ใหม่เข้าสู่ไตรมาส 3 ตลาดน่าจะเริ่มฟื้นตัวบ้าง แต่หากสถานการณ์ลากออกไปอีกนาน ก็เป็นเรื่องใหญ่แน่ เพราะตอนนี้ลูกค้าต่างชาติ 70-80 เปอร์เซ็นต์หายไปเลย ที่จะมาก็เลื่อน ไปหมด”

          ในส่วนของบริษัทฮาบิแททฯ สิ่งที่ต้องรับมือในช่วงนี้ 2-3 เดือนนี้ แยกออกเป็น 1. ใช้เรื่องออนไลน์มาช่วยใน เรื่องการขาย ให้ลูกค้าชมคลิปวิดีโอของโครงการแทนการเข้ามาชมโครงการ รวมถึงกิจกรรม (อีเวนต์) ในต่างประเทศ เรานำระบบออนไลน์เข้ามาช่วย เพื่อให้ลูกค้าต่างชาติได้ชมโครงการ และ 2. การบริหารเงินสด จังหวะนี้จะต้องถือเงินสดให้มากที่สุด โดยแปลงที่ดินสำหรับพัฒนาโครงการต่อๆ ไป หากตลาดอสังหาฯ ไม่ชัดเจน ก็จำเป็นตัดขายที่ดินบางส่วนออกไป เช่น ในพัทยา มี 2 แปลง บางแปลง ก็หาผู้ร่วมทุนหรือขายออกไป เพื่อแปลงสินทรัพย์ให้เป็น กระแสเงินเข้ามาบริษัท ซึ่งมีบางแปลงที่เริ่มประกาศขายที่ดินแล้ว 3. พิจารณาโครงการที่มีอยู่ จะไปเร่งรัดโครงการไหน หรือทบทวนโครงการที่จะเปิดในปีนี้ เช่น โครงการในพัทยา ถ้าภาวะไม่เหมาะสม ก็เลื่อนไปทำตลาดและเปิดขายในปี 2564 แทน

          “หากสถานการณ์จะลากยาวออกไปอีก เราเหนื่อยแน่ ทำให้เราต้องหาเครื่องมือทางการเงินในรูปแบบอื่นๆ ที่ อาจจะไม่ใช่จากธนาคารเข้ามาช่วย หรือที่ดินบางแปลงหา ผู้ร่วมทุนใหม่ๆ เข้ามา บางแปลงหากไม่เอื้อต่อการพัฒนาคอนโดมิเนียม ก็ปรับรูปแบบเป็นโรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์แทน สิ่งเหล่านี้คือเป็นเรื่องของแผนธุรกิจ ที่เราต้องมาคิดกัน แต่ยอมรับว่า ธุรกิจที่เป็นรูปแบบการเช่ามีรายได้ประจำนั้น ต้องใช้กระแสเงินสดที่นานกว่า คอนโดฯ ก็อาจจะมีเรื่องของพันธมิตรเข้ามา แต่ในภาวะแบบนี้ การหาจอยน์เวนเจอร์ทำได้ยากมาก ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ และยุโรปตัดออกไป หรือแม้แต่ญี่ปุ่นก็ยังไม่ดีขึ้น ดังนั้น เรื่องผู้ร่วมทุนน่าจะเป็นเรื่องของแผนระยะกลางและยาว ที่จะมองกันอีกที”

          มีเงินจ่ายผลตอบแทนให้กับลูกค้าคอนโดฯ

          นายชนินทร์ กล่าวถึงผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 กับโครงการที่ให้บริการในรูปแบบคอนโดเทลว่า บริษัทฮาบิแททฯ ไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องการจ่ายยิลด์ให้กับเจ้าของห้องชุด  ซึ่งเราจ่ายเป็นรายเดือน วงเงินไม่ได้เยอะ ในแง่ธุรกิจเรามีกระแสเงินสดที่เพียงพออยู่ แต่ในการทำธุรกิจรูปแบบอินเวสเมนต์คอนโดฯ นั้น การใช้เงินก้อนโตจะอยู่ในเรื่องของการก่อสร้าง การทำโครงการเป็นตัวเลขที่ใหญ่กว่า ดังนั้น โครงการที่จะเปิดขายในปีนี้ ก็อาจไปขายปี 2564 และเริ่มก่อสร้างในปีถัดไป

          โชคดี! ปี 63 มียอดโอนโครงการ 2,000 ล้าน

          สำหรับแนวโน้มธุรกิจในปี 2563 นั้น นายชนินทร์ กล่าวว่า ปีนี้เราโชคดีที่มี 4-5 โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ มูลค่าที่เราจะโอนได้ในปีนี้ 2,000 ล้านบาท เติบโต ประมาณ 150% เฉลี่ยไตรมาสละ 500 ล้านบาท ซึ่งต่างจากปีที่ผ่านมามียอดโอนเพียง 1 โครงการ มูลค่า 800 ล้านบาท ขณะที่เป้าการขายปีนี้วางไว้เบื้องต้น 1,000-2,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีการเติบโตอยู่ (ปี 62 ยอดขาย 1,000 ล้านบาทเศษ) โดยต้องประเมินสถานการณ์และโอกาสของการเปิด โครงการใหม่ได้มากน้อยเพียงใด ปัจจุบันบริษัทมี ยอดขายรอบันทึกเป็นรายได้ (แบ็กล็อก) 3,500 ล้านบาท จะรับรู้รายได้ในปีนี้มูลค่า 2,000 ล้านบาท และรับรู้ในปี ถัดไป

          ‘CI’ เร่งสร้างโครงการส่งมอบลูกค้าตามแผน

          นายสงกรานต์ อิสสระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ CI กล่าวว่า โรงแรมในกลุ่มเราได้เจรจาตกลงกับลูกค้าโรงแรม ที่ได้จ่ายค่าที่พักล่วงหน้า มาแล้ว ให้เลื่อนเวลาเข้าพักจนกว่าสถานการณ์จะอำนวย ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีและเราได้ใช้ช่วงระยะเวลานี้ ติดต่อ รักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าและตัวแทนขาย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพื่อผสานความเข้าใจและเกื้อหนุนการสร้าง Brand Royalty

          สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ส่วนใหญ่เป็นโครงการระดับ medium plus to high end บริษัทจะเร่งงาน Backlog และพัฒนาโครงการต่างๆ ต่อไป เพื่อส่งมอบงานให้ลูกค้าตามที่ได้ตกลงกันไว้ นอกจากนี้ ในด้านการเงิน บริษัทได้รับเงินทุนจากสถาบันการเงินสนับสนุนโครงการ ทั้งที่โรงแรมศรีพันวาและชะอำหัวหินตั้งแต่ปีที่แล้ว การก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปลายปี 2563

          “โครงการศรีพันวาภูเก็ต จะไม่เน้นเพื่อการลงทุน แต่เราจะบริหารจัดการให้กับลูกค้า โดยมีการปล่อยเช่า ตามจริงและให้ผลตอบแทนไป ซึ่งปกติเราจะจ่ายผลตอบแทนปีละ 2 ครั้ง แต่ไม่มีการการันตียิลด์ ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้ จำเป็นต้องยกเลิกการจ่ายซึ่งลูกค้าเข้าใจ และที่ผ่านมา ลูกค้าแฮปปี้กับการบริการของศรีพันวา ภูเก็ต และถ้าเข้าสู่ภาวะปกติ ก็พร้อมให้ผลตอบแทนกับเจ้าของสินทรัพย์” นายสงกรานต์ กล่าว .

          “บริษัทฮาบิแททฯไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องการจ่ายยิลด์ให้กับเจ้าของห้องชุด ซึ่งเราจ่ายเป็นรายเดือน วงเงินไม่ได้เยอะในแง่ธุรกิจ เรามีกระแสเงินสดที่เพียงพออยู่”

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย